โครงการ
กีฬาอาชีวะเกมส์ ระดับชาติ ครั้งที่ 12
“พิษณุโลกเกมส์”
ระหว่าง
วันที่ 28 สิงหาคม 2560 - 3 กันยายน 2560
ณ.สนามกีฬากลาง จังหวัดพิษณุโลก
หลักการและเหตุผล
กีฬาเป็นกิจกรรมทำให้ร่างกายแข็งแรง จิตใจร่าเริง สนุกสนาน รู้แพ้ รู้ชนะ ไม่เอารัดเอาเปรียบ ให้อภัยซึ่งกันและกัน และก่อให้เกิดความสามัคคีกลมเกลียว อย่างที่เรียกกันว่ามีน้ำใจนักกีฬา สำนักงานการอาชีวศึกษามีนโยบายส่งเสริมสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพ และความสามารถของนักศึกษา สังกัดอาชีวศึกษาภาครัฐ ให้เป็นผู้พร้อมด้วยความรู้ คุณภาพและคุณธรรม มีความจงรักภักดีต่อสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ บำเพ็ญตนให้เป็นประโยชน์ต่อผู้อื่น ตลอดจนสังคมและประเทศชาติ โดยนำกิจกรรมกีฬามาสร้างสรรค์ พัฒนาเยาวชนทั้งหญิงและ ชาย ให้ตระหนักถึงการใช้เวลาให้เกิดประโยชน์ต่อตัวเอง ครอบครัว ชุมชน เพื่อลดพฤติกรรมเสี่ยงที่ทำลายสุขภาพ มาสร้างสรรค์ในสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อตัวเองและผู้อื่น เข้าใจบทบาทหน้าที่ของตนเอง เพื่อหลีกเลี่ยงการเข้าไปเกี่ยวข้องกับปัญหาสังคมที่เกี่ยวกับยาเสพติด การทะเลาะวิวาท การมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันสมควร ปัญหาโรคเอดส์ การดื่มสุรา การสูบบุหรี่ การเล่นการพนัน การขับขี่รถจักรยานยนต์แข่งขันกันบนถนนหลวง เป็นต้น จึงได้กำหนดแผนการดำเนินกิจกรรมกีฬา คนพันธ์ R เพื่อพัฒนานักศึกษา สังกัดอาชีวศึกษาภาครัฐ ให้มีศักยภาพทั้งด้านคุณภาพ และคุณธรรมสู่ความเป็นเลิศในสังคมต่อไป และการแข่งขันกีฬาดังกล่าวครั้งนี้จะเป็นการแข่งขันกีฬาอาชีวะเกมส์ ระดับชาติ ซึ่งเป็นการรวมทัพนักกีฬาทั่วประเทศมาชิงชัยในเกมส์กีฬากัน โดยเป็นการรวมตัวของนักกีฬาอาชีวะศึกษาทั่วประเทศไทย พร้อมด้วยผู้ควบคุมนักกีฬา กองเชียร์ ประมาณกว่า 50,000 คน มีประเภทกีฬาทั้งหมด 10 ประเภท
วัตถุประสงค์
- เพื่อส่งเสริมการสนับสนุนให้นักศึกษา สังกัดอาชีวศึกษาภาครัฐทุกคนออกกำลังกายโดยการเล่นกีฬาเพื่อสุขภาพ
- เพื่อสร้างความสามัคคีความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันระหว่างคณะอาจารย์และนักศึกษาในสถาบันอาชีวศึกษาทั่วประเทศ
- เพื่อเป็นโอกาสให้นักกีฬาอาชีวศึกษาทั่วประเทศได้มีทักษะของการเล่นกีฬาแบบมืออาชีพ
- เพื่อส่งเสริมเชิดชูเกียรตินักกีฬาอาชีวศึกษาประเภทต่างๆ ที่ผ่านการคัดเลือกระดับชาติในฐานะตัวแทนทีมชาติไทย
- เพื่อเป็นการพัฒนาการแข่งขันกีฬาอาชีวะเกมส์ ให้เป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวาง
- เพื่อเป็นการกระตุ้นให้นักศึกษาอาชีวะศึกษาได้ตระหนักถึงประโยชน์ของการออกกำลังกายด้วย
- เพื่อยกระดับกีฬาอาชีวะเกมส์ให้เป็นกีฬาระดับสากล
ระยะเวลาในการดำเนินโครงการ
วันที่ 28 สิงหาคม 2560 - 3 กันยายน 2560
สถานที่ดำเนินการ
สนามกีฬากลาง จังหวัดพิษณุโลก
ผู้เข้าร่วมกิจกรรม
คณะอาจารย์ นักศึกษา สังกัดอาชีวศึกษาภาครัฐ ที่เป็นตัวแทนนักกีฬาจากสถานศึกษาในสังกัด แต่ละระดับ จำนวน 5,000 คน กองเชียร์ เจ้าหน้าที่ และประชาชน เข้าร่วมโครงการแข่งขันกีฬา จำนวน 50,000 คน ดังรายละเอียดดังนี้
- นักกีฬาเข้าร่วมการแข่งขัน 10 ประเภท แต่ละระดับ จำนวน 5,000 คน
- นักศึกษา สังกัดอาชีวศึกษาภาครัฐ ประเภทกองเชียร์ประจำสนามแข่งขัน 10 ประเภท จำนวน 45,000 คน
- อาจารย์ และเจ้าหน้าที่ จากสถานศึกษาแต่ละระดับ จำนวน 1,000 คน
- ประชาชน นักศึกษา ต่างสังกัดร่วมชมการแข่งขันกีฬา แต่ละระดับจำนวน 4,000 คน
ชนิดกีฬาแข่งขัน
- ฟุตบอล ประเภท ชาย
- ฟุตซอล ประเภท ชาย
- กรีฑา ประเภท ชาย-หญิง
- บาสเกตบอล ประเภท ชาย-หญิง
- วอลเล่ย์บอล ประเภท ชาย-หญิง
- เซปักตะกร้อ ประเภท ชาย-หญิง
- มวยไทยสมัครเล่น ประเภท ชาย-หญิง
- มวยสากลสมัครเล่น ประเภท ชาย-หญิง
- เปตอง ประเภท ชาย-หญิง
- หมากล้อม ประเภท ชาย-หญิง
กิจกรรมดำเนินการในด้านประชาสัมพันธ์
- ดำเนินการประชาสัมพันธ์ขอความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและสถาบันอาชีวศึกษาทั่วประเทศ
- ประสานงานหน่วยงานราชการต่างๆ เพื่อขออนุญาตส่วนที่เกี่ยวข้องกับการประชาสัมพันธ์และอื่นๆ ของโครงการฯ
- ผลิตสื่อสิ่งพิมพ์ โปสเตอร์ แผ่นพับ ใบปลิว ป้ายผ้า บัตรเข้าชม และสื่อโฆษณาต่างๆเพื่อใช้ในการประชาสัมพันธ์
- ส่งเอกสาร โปสเตอร์ แผ่นพับ ใบปลิว ไปยังสถานศึกษาต่างๆ เพื่อประชาสัมพันธ์
- จัดแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนเพื่อให้สื่อมวลชนช่วยประชาสัมพันธ์
- ติดประกาศประชาสัมพันธ์รอบจังหวัดพิษณุโลก
- ดำเนินการถ่ายทอดสด วันเปิด การแข่งขันกีฬา
การดำเนินการด้านอำนวยการ
- ประชุมผู้ที่เกี่ยวข้องเพื่อปรึกษาหารือ
- ประชุมคณะกรรมการและกลุ่มอาชีวศึกษาภาคเหนือเพื่อหาแนวทาง และกำหนดวิธีการดำเนินงานโครงการ
- จัดเตรียมสถานที่แข่งขัน ห้องพักนักกีฬา
- แบ่งทีมและจับสลากสายการแข่งขัน
- บันทึกขออนุมัติโครงการ และเสนอโครงการ
- แต่งตั้งคณะกรรมการและเจ้าหน้าที่ เพื่อรับผิดชอบการดำเนินงาน
- แจ้งกำหนดการและประเภทกีฬาที่จะแข่งขันให้ทุกทีมทราบ
- ดำเนินการแข่งขัน
- สรุปผลการแข่งขัน/ประเมินผลการแข่งขัน
เป้าหมายโครงการ
ด้านปริมาณ
- ตัวแทนนักกีฬาอาชีวศึกษาทั่วประเทศได้เข้าร่วมการแข่งขันกีฬาครั้งนี้
- คณะครู อาจารย์ ผู้ควบคุมนักกีฬาทั่วประเทศได้เข้าร่วมการแข่งขัน
- ประชาชนในจังหวัดพิษณุโลก ได้เข้าร่วมชมการแข่งขันครั้งนี้
ด้านคุณภาพ
- กีฬาไม่ได้หวังผลแพ้ชนะ แต่เน้นที่ความสนุกสนาน ระเบียบวินัย มารยาท และความสามัคคีของคนดูและผู้แข่งขัน
- นักกีฬาทุกคนมีความประทับใจในการร่วมการแข่งขัน
- กรรมการทุกคนมีคุณภาพในการตัดสิน
- ระบบสาธารณูปโภคเพียงพอต่อความต้องการของนักกีฬา
- มีความปลอดภัยในการร่วมการแข่งขันกีฬา
- สร้างความสามัคคีให้กับทุกคนที่เข้าร่วมการแข่งขันครั้งนี้
ผลที่คาดว่าจะได้รับ
- สร้างนักกีฬาในสถานศึกษา พัฒนาผู้มีทักษะและความสามารถสู่ความเป็นเลิศในระดับชาติ และพัฒนาต่อเนื่องไปสู่อาชีพ
- นักกีฬาอาชีวศึกษาประเภทต่างๆ ที่ผ่านการคัดเลือกระดับชาติ ได้เข้าเป็นตัวแทนทีมชาติไทยและได้รับการยกย่อง เพื่อเป็นขวัญกำลังใจในการพัฒนาตนเอง
- เกิดเครือข่ายผู้ปกครอง องค์กรท้องถิ่น ชุมชนและหน่วยงานของภาครัฐ และเอกชน เพื่อการพัฒนาด้านกีฬาในสถานศึกษาร่วมกันอย่างต่อเนื่อง
- ผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้ประสบการณ์ตรงในด้านทักษะการบริหารจัดการ การร่วมการแข่งขัน ร่วมเชียร์ ร่วมเป็นเจ้าหน้าที่ และร่วมจัดการแข่งขัน
- สร้างความรัก ความเข้าใจ ความสามัคคี ลดความขัดแย้ง อันเป็นการสร้างสันติภาพ และความเป็นเอกภาพแห่งชาติ
- เป็นการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์อย่างเป็นรูปธรรม
- สามารถสร้างความสามัคคี ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันระหว่างเจ้าหน้าที่ ผู้คุม นักกีฬา นักกีฬาในทุกระดับการศึกษา
- สามารถฝึกฝนทักษะการทำงานร่วมกันของนิสิตในการเตรียมกิจกรรม
การติดตามและประเมินผลโครงการ
- รายงานการดำเนินโครงการฯ
- จากจำนวนนักกีฬาที่เข้าร่วมกิจกรรม
- จากจำนวนผู้เข้าร่วมงานพิธีเปิด และปิดการแข่งขัน
- จากจำนวนคณะอาจารย์ ผู้ควบคุมนักกีฬา
- แบบสอบถาม








