ข่าวกิจกรรม ย้อนกลับ
โครงการ กีฬาอาชีวะเกมส์ ระดับชาติ ครั้งที่ 13 “บัวหลวงเกมส์”
02 พ.ย. 2561

โครงการ

กีฬาอาชีวะเกมส์ ระดับชาติ ครั้งที่ 13
“บัวหลวงเกมส์”


ระหว่าง
วันที่ 3 - 9 กันยายน 2561


ณ.สนามกีฬามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี
และสนามกีฬาเฉลิมพระเกียรติ คลอง 6
จังหวัดปทุมธานี

หลักการและเหตุผล
            กีฬาเป็นกิจกรรมทำให้ร่างกายแข็งแรง  จิตใจร่าเริง  สนุกสนาน  รู้แพ้ รู้ชนะ  ไม่เอารัดเอาเปรียบ  ให้อภัยซึ่งกันและกัน    และก่อให้เกิดความสามัคคีกลมเกลียว  อย่างที่เรียกกันว่ามีน้ำใจนักกีฬา  สำนักงานการอาชีวศึกษามีนโยบายส่งเสริมสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพ และความสามารถของนักศึกษา สังกัดอาชีวศึกษาภาครัฐ ให้เป็นผู้พร้อมด้วยความรู้ คุณภาพและคุณธรรม มีความจงรักภักดีต่อสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ บำเพ็ญตนให้เป็นประโยชน์ต่อผู้อื่น ตลอดจนสังคมและประเทศชาติ โดยนำกิจกรรมกีฬามาสร้างสรรค์ พัฒนาเยาวชนทั้งหญิงและ ชาย ให้ตระหนักถึงการใช้เวลาให้เกิดประโยชน์ต่อตัวเอง ครอบครัว ชุมชน เพื่อลดพฤติกรรมเสี่ยงที่ทำลายสุขภาพ มาสร้างสรรค์ในสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อตัวเองและผู้อื่น เข้าใจบทบาทหน้าที่ของตนเอง เพื่อหลีกเลี่ยงการเข้าไปเกี่ยวข้องกับปัญหาสังคมที่เกี่ยวกับยาเสพติด การทะเลาะวิวาท การมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันสมควร ปัญหาโรคเอดส์ การดื่มสุรา การสูบบุหรี่ การเล่นการพนัน การขับขี่รถจักรยานยนต์แข่งขันกันบนถนนหลวง เป็นต้น จึงได้กำหนดแผนการดำเนินกิจกรรมกีฬา คนพันธ์ R เพื่อพัฒนานักศึกษา สังกัดอาชีวศึกษาภาครัฐ ให้มีศักยภาพทั้งด้านคุณภาพ และคุณธรรมสู่ความเป็นเลิศในสังคมต่อไป  และการแข่งขันกีฬาดังกล่าวครั้งนี้จะเป็นการแข่งขันกีฬาอาชีวะเกมส์ ระดับชาติ ซึ่งเป็นการรวมทัพนักกีฬาทั่วประเทศมาชิงชัยในเกมส์กีฬากัน โดยเป็นการรวมตัวของนักกีฬาอาชีวะศึกษาทั่วประเทศไทย พร้อมด้วยผู้ควบคุมนักกีฬา กองเชียร์ ประมาณกว่า 50,000 คน  มีประเภทกีฬาทั้งหมด 10 ประเภท

วัตถุประสงค์
            1. เพื่อส่งเสริมการสนับสนุนให้นักศึกษา สังกัดอาชีวศึกษาภาครัฐทุกคนออกกำลังกาย โดยการเล่นกีฬาเพื่อสุขภาพ
            2. เพื่อสร้างความสามัคคีความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันระหว่างคณะอาจารย์ และนักศึกษาในสถาบันอาชีวศึกษาทั่วประเทศ
            3. เพื่อเป็นโอกาสให้นักกีฬาอาชีวศึกษาทั่วประเทศได้มีทักษะของการเล่นกีฬาแบบมืออาชีพ
            4. เพื่อส่งเสริมเชิดชูเกียรตินักกีฬาอาชีวศึกษาประเภทต่างๆ ที่ผ่านการคัดเลือกระดับชาติในฐานะตัวแทนทีมชาติไทย
            5. เพื่อเป็นการพัฒนาการแข่งขันกีฬาอาชีวะเกมส์ ให้เป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวาง
            6. เพื่อเป็นการกระตุ้นให้นักศึกษาอาชีวะศึกษาได้ตระหนักถึงประโยชน์ของการออกกำลังกายด้วย
            7. เพื่อยกระดับกีฬาอาชีวะเกมส์ให้เป็นกีฬาระดับสากล

ระยะเวลาในการดำเนินโครงการ
            วันที่ 3 -  9 กันยายน 2561

สถานที่ดำเนินการ
           สนามกีฬามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรีและสนามกีฬาเฉลิมพระเกียรติ คลอง 6 จังหวัดปทุมธานี

ผู้เข้าร่วมกิจกรรม
            คณะอาจารย์ นักศึกษา สังกัดอาชีวศึกษาภาครัฐ ที่เป็นตัวแทนนักกีฬาจากสถานศึกษาในสังกัด แต่ละระดับ จำนวน 5,000 คน กองเชียร์ เจ้าหน้าที่ และประชาชน เข้าร่วมโครงการแข่งขันกีฬา จำนวน 50,000 คน  ดังรายละเอียดดังนี้
            1. นักกีฬาเข้าร่วมการแข่งขัน 10 ประเภท แต่ละระดับ จำนวน 5,000 คน
            2. นักศึกษา สังกัดอาชีวศึกษาภาครัฐ ประเภทกองเชียร์ประจำสนามแข่งขัน 10 ประเภท จำนวน 45,000 คน
            3. อาจารย์ และเจ้าหน้าที่ จากสถานศึกษาแต่ละระดับ จำนวน 1,000 คน
            4. ประชาชน นักศึกษา ต่างสังกัดร่วมชมการแข่งขันกีฬา แต่ละระดับจำนวน 4,000 คน

ชนิดกีฬาแข่งขัน
            1.    ฟุตบอล                                ประเภท        ชาย
            2.    ฟุตซอล                                ประเภท        ชาย
            3.    กรีฑา                                   ประเภท        ชาย-หญิง
            4.    บาสเกตบอล                         ประเภท        ชาย-หญิง
            5.    วอลเล่ย์บอล                         ประเภท        ชาย-หญิง
            6.    เซปักตะกร้อ                         ประเภท         ชาย-หญิง
            7.    มวยไทยสมัครเล่น                 ประเภท         ชาย-หญิง
            8.    มวยสากลสมัครเล่น               ประเภท         ชาย-หญิง
            9.    เปตอง                                 ประเภท         ชาย-หญิง
            10.  หมากล้อม                            ประเภท         ชาย-หญิง

กิจกรรมดำเนินการในด้านประชาสัมพันธ์
            1.  ดำเนินการประชาสัมพันธ์ขอความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและสถาบันอาชีวศึกษาทั่วประเทศ
            2.  ประสานงานหน่วยงานราชการต่างๆ  เพื่อขออนุญาตส่วนที่เกี่ยวข้องกับการประชาสัมพันธ์และอื่นๆ ของโครงการฯ
            3.  ผลิตสื่อสิ่งพิมพ์ โปสเตอร์ แผ่นพับ ใบปลิว  ป้ายผ้า บัตรเข้าชม และสื่อโฆษณาต่างๆ เพื่อใช้ในการประชาสัมพันธ์
            4.  ส่งเอกสาร โปสเตอร์ แผ่นพับ ใบปลิว ไปยังสถานศึกษาต่างๆ เพื่อประชาสัมพันธ์
            5.  จัดแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนเพื่อให้สื่อมวลชนช่วยประชาสัมพันธ์
            6.  ติดประกาศประชาสัมพันธ์รอบจังหวัดปทุมธานี
            7.  ดำเนินการถ่ายทอดสด วันเปิด การแข่งขันกีฬา

การดำเนินการด้านอำนวยการ

            1. ประชุมผู้ที่เกี่ยวข้องเพื่อปรึกษาหารือ
            2. ประชุมคณะกรรมการและกลุ่มอาชีวศึกษาภาคเหนือเพื่อหาแนวทาง และกำหนดวิธีการดำเนินงานโครงการ
            3. จัดเตรียมสถานที่แข่งขัน ห้องพักนักกีฬา
            4. แบ่งทีมและจับสลากสายการแข่งขัน
            5. บันทึกขออนุมัติโครงการ และเสนอโครงการ
            6. แต่งตั้งคณะกรรมการและเจ้าหน้าที่ เพื่อรับผิดชอบการดำเนินงาน
            7. แจ้งกำหนดการและประเภทกีฬาที่จะแข่งขันให้ทุกทีมทราบ
            8. ดำเนินการแข่งขัน
            9. สรุปผลการแข่งขัน/ประเมินผลการแข่งขัน

เป้าหมายโครงการ
            ด้านปริมาณ
            -    ตัวแทนนักกีฬาอาชีวศึกษาทั่วประเทศได้เข้าร่วมการแข่งขันกีฬาครั้งนี้
            -    คณะครู อาจารย์ ผู้ควบคุมนักกีฬาทั่วประเทศได้เข้าร่วมการแข่งขัน
            -    ประชาชนในจังหวัดปทุมธานี ได้เข้าร่วมชมการแข่งขันครั้งนี้
            ด้านคุณภาพ
            -     กีฬาไม่ได้หวังผลแพ้ชนะ  แต่เน้นที่ความสนุกสนาน  ระเบียบวินัย  มารยาท   และความสามัคคีของคนดูและผู้แข่งขัน
            -     นักกีฬาทุกคนมีความประทับใจในการร่วมการแข่งขัน
            -     กรรมการทุกคนมีคุณภาพในการตัดสิน
            -     ระบบสาธารณูปโภคเพียงพอต่อความต้องการของนักกีฬา
            -     มีความปลอดภัยในการร่วมการแข่งขันกีฬา
            -     สร้างความสามัคคีให้กับทุกคนที่เข้าร่วมการแข่งขันครั้งนี้

ผลที่คาดว่าจะได้รับ

            1.    สร้างนักกีฬาในสถานศึกษา พัฒนาผู้มีทักษะและความสามารถสู่ความเป็นเลิศในระดับชาติ และพัฒนาต่อเนื่องไปสู่อาชีพ
            2.    นักกีฬาอาชีวศึกษาประเภทต่างๆ ที่ผ่านการคัดเลือกระดับชาติ ได้เข้าเป็นตัวแทนทีมชาติไทยและได้รับการยกย่อง เพื่อเป็นขวัญกำลังใจในการพัฒนาตนเอง
            3.    เกิดเครือข่ายผู้ปกครอง องค์กรท้องถิ่น ชุมชนและหน่วยงานของภาครัฐ และเอกชน เพื่อการพัฒนาด้านกีฬาในสถานศึกษาร่วมกันอย่างต่อเนื่อง
            4.    ผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้ประสบการณ์ตรงในด้านทักษะการบริหารจัดการ การร่วมการแข่งขัน ร่วมเชียร์ ร่วมเป็นเจ้าหน้าที่ และร่วมจัดการแข่งขัน
            5.    สร้างความรัก ความเข้าใจ ความสามัคคี ลดความขัดแย้ง อันเป็นการสร้างสันติภาพ และความเป็นเอกภาพแห่งชาติ
            6.    เป็นการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์อย่างเป็นรูปธรรม
            7.    สามารถสร้างความสามัคคี  ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันระหว่างเจ้าหน้าที่ ผู้คุม นักกีฬา นักกีฬาในทุกระดับการศึกษา
            8.   สามารถฝึกฝนทักษะการทำงานร่วมกันของนิสิตในการเตรียมกิจกรรม

การติดตามและประเมินผลโครงการ

            1.  รายงานการดำเนินโครงการฯ
            2.  จากจำนวนนักกีฬาที่เข้าร่วมกิจกรรม
            3.  จากจำนวนผู้เข้าร่วมงานพิธีเปิด และปิดการแข่งขัน
            4.  จากจำนวนคณะอาจารย์ ผู้ควบคุมนักกีฬา
            5.  แบบสอบถาม

ภาพการแข่งขันกีฬาอาชีวะเกมส์ ระดับชาติ ครั้งที่ 6 - 12

วิดีโอล่าสุด
กลุ่มลูกค้าของบริษัท